โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ มีอะไรบ้างที่คู่รักต้องระวัง เช็กสัญญาณติดโรค !
โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หรือโรคส่งผ่านทางเพศสัมพันธ์ (ตามที่บัญญัติในราชบัณฑิตยสถาน) (Sexually transmitted disease : STD) อาจเรียกว่า “กามโรค” (Venereal disease) หรือ “วีดี” เกิดขึ้นจากการติดต่อกันผ่านทางเพศสัมพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นการร่วมเพศทางช่องคลอด ทางปาก หรือทวารหนัก กับผู้ที่กำลังมีเชื้อ ปัจจุบันใช้คำว่า “การติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์” เพื่อให้มีความหมายกว้างขึ้น
โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ มีอะไรบ้าง
โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เป็นโรคที่สามารถเป็นได้ทุกเพศ ทุกวัย แต่พบมากในหมู่วัยรุ่น เนื่องจากวัยรุ่นในปัจจุบัน นิยมมีเพศสัมพันธ์ก่อนการแต่งงาน โดยที่ขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการป้องกันตัวเอง รวมทั้งโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ต่าง ๆ นอกจากนี้ในปัจจุบัน คู่แต่งงานมีอัตราการหย่าร้างสูงขึ้น ทำให้คนมีสามี หรือภรรยาหลายคน จึงเกิด โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มากขึ้นสิ่งที่อันตรายของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ คือ เมื่อเป็นแล้วมักจะไม่เกิดอาการ บางคนจึงติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์แล้วโดยไม่รู้ตัว และเป็นปัญหาในการจัดการทางระบบสาธารณสุข และที่สำคัญโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์สามารถติดต่อไปยังทารกในครรภ์ได้
สาเหตุของการเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
สาเหตุของการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มคือ
- เกิดจากเชื้อไวรัส ซึ่งบางชนิดสามารถรักษาให้หายขาดได้ บางชนิดไม่มียารักษา และบางชนิดยังสามารถฝังตัวอยู่ และกลับมาเป็นซ้ำได้อีก โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่เกิดจากเชื้อไวรัส ได้แก่ เริมที่อวัยวะเพศ หูดหงอนไก่ ไวรัสตับอักเสบบี ฯลฯ
- เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย สามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะ ได้แก่ ซิฟิลิส หนองใน หนองในเทียม ท่อปัสสาวะอักเสบ ช่องคลอดอักเสบ ฯลฯ
- เกิดจากเชื้ออื่น ๆ เช่น พยาธิ สามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะ
กลุ่มเสี่ยงต่อการเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
- คนที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย หรือหญิงบริการ ใน 3 เดือนก่อนหน้า
- คนที่มีคู่นอนมากกว่า 1 คน ในช่วง 3 เดือนก่อนหน้า
- คนที่มีเพศสัมพันธ์กับคู่คนใหม่ ในช่วง 3 เดือนก่อนหน้า
- ผู้ที่มีประวัติป่วยเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ใน 1 ปีที่ผ่านมา
- ผู้ที่มีคู่ครองอยู่คนละที่
อาการแบบใด สงสัยเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
เรื่องเพศสัมพันธ์ หากมีอาการเหล่านี้ สามารถสงสัยได้ว่าเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
- ในผู้ชาย จะมีอาการปัสสาวะแสบขัด ขาหนีบบวม หรือเป็นฝี เจ็บปวดอวัยวะเพศ มีผื่น ตุ่ม แผล บริเวณอวัยวะเพศ มีเมือกใส หรือหนองไหลออกมา
- ในผู้หญิง จะรู้สึกเจ็บ เสียวท้องน้อย ขาหนีบบวม หรือเป็นฝี เจ็บปวด คันอวัยวะเพศ มีผื่น ตุ่ม แผลบริเวณอวัยวะเพศ มีตกขาวสีเหลือง มีกลิ่นเหม็น
โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ที่สำคัญ ได้แก่
- โรคเอดส์ (AIDS)
- หนองใน (Gonorrhoea)
- หนองในเทียม (Non-gonococcal Urethritis/Non gonococcal Cervicitis)
- แผลริมอ่อน (Chancroid)
- เริมที่อวัยวะเพศ (Genita Herpes Simplex Virus Infection)
- หูดข้าวสุก (Molluscum contagiosum)
- หูดหงอนไก่ (Condyloma Acuminata)
- หิด (Scabies)
- ซิฟิลิส (Syphilis)
- โลน (Pediculosis Pubis)
การป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
วิธีป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ คือ
1. ใส่ถุงยางอนามัย หากจะมีเพศสัมพันธ์กับคนที่ไม่แน่ใจว่ามีเชื้อหรือไม่
2. รักษาความสะอาดของร่างกายและอวัยวะเพศอย่างสม่ำเสมอ
3. ไม่เปลี่ยนคู่นอน ให้มีสามี หรือภรรยาคนเดียว
4. ไม่ควรมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่ยังอายุน้อย เนื่องจากมีสถิติว่า ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุยังน้อยจะมีโอกาสติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์สูง
5. ตรวจโรคเป็นประจำทุกปี เพื่อหาเชื้อโรค แม้จะไม่มีอาการใด ๆ โดยเฉพาะคู่ที่กำลังจะแต่งงาน
6. เรียนรู้ ศึกษาอาการของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
7. ไม่ควรมีเพศสัมพันธ์ขณะมีประจำเดือน เพราะจะทำให้เกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ง่าย
8. ไม่ควรมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก หากจำเป็นให้สวมถุงยางอนามัย
9. ไม่ควรสวนล้างช่องคลอด เพราะจะทำให้เกิดการติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ง่าย
วิธีปฏิบัติตัวของผู้ที่เป็น โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
1. ต้องรักษาอย่างรวดเร็ว เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อโรค
2. แจ้งคู่นอนให้ทราบว่า เป็น โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เพื่อจะได้ป้องกัน ไม่ให้เชื้อแพร่ไปสู่คนอื่น
3. รักษาอาการ และปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
4. หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ หรือการสำเร็จความใคร่ด้วยตัวเอง เพื่อป้องกันไม่ให้อาการอักเสบลุกลาม
5. งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ของมึนเมาทุกชนิด
6. ไม่ควรซื้อยามารักษาเอง ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อให้ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง